คุณเป็นอีกคนที่ค้นหาคำตอบสำหรับคำถามนี้อยู่หรือเปล่า ปัจจุบันสัดส่วนหลักของแรงงานทั้งหมดเป็น Gen Y และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็มีจำนวนไม่น้อยที่จะขึ้นเป็นผู้บริหารแทนรุ่น Baby Boomers
คำถามที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ องค์กรแบบไหนที่จะมัดใจคน Gen Y ได้บ้าง?
คุณรู้จักธุรกิจที่เป็น disteruptive business ไหม ธุรกิจประเภทนี้ เช่น Airbnb, Apple, Facebook, Google, Uber, Alibaba ฯลฯ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตแบบเดิมๆ นั่นเอง และมาแทนที่ธุรกิจแบบเดิมๆ ที่ไม่ปรับตัว
เพราะโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว วิธีการทำงานเดิมๆ ระบบกฎเกณฑ์แบบเดิมๆ ที่เคยใช้ได้ผลกับคน Gen ก่อน แต่ไม่ใช่กับ Gen Y!
และนี่คือสิ่งที่นำไปสู่การลาออกของ Gen Y
1. ทางเลือกที่มากขึ้น
Gen Y เติบโตมากับสังคมที่เลือกได้ มีร้านอาหารให้เลือกเป็น 100 (แถมยังมีบริการส่งถึงที่) มีรายการทีวีให้เลือกดูเป็น 1,000 (แถมยังมีช่องของต่างประเทศ แล้วยังสามารถดูย้อนหลังได้อีกด้วย) มีร้านค้าเป็น 10,000 (พร้อมโปรโมชั่น และบริการส่งถึงที่) อยากจะรู้อะไรก็สามารถรู้ได้ทันที เพราะพวกเขามี Google อีกทั้งยังรับข้อมูลข่าวสาร ได้ตลอดเวลาแค่มีอินเตอร์เน็ต
เรียกได้ว่าไม่ต้องเสียเวลามากมาย Gen Y ก็สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองต้องการได้ทันที พวกเขาจึงติดนิสัยไม่ชอบอดทนรอ ในทางกลับกัน Gen Y จะใช้เวลาไปกับการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองซะมากกว่า
เรื่องงานก็เหมือนกัน เพียงแค่สร้าง account และลง profile เอาไว้ในเว็บไซต์ มันก็พร้อมที่จะนำเสนอให้บริษัทที่ต้องการคนได้ตลอดเวลา หรือแม้แต่เสนองานใหม่ๆ ให้ ยิ่งถ้าเป็นตำแหน่งที่ตลาดต้องการแล้วล่ะก็ HR เป็นฝ่ายเข้าหาก่อนด้วยซ้ำ แต่เมื่อพวกเขาเคยเลือกอะไรแล้วมันเปลี่ยนไป รู้สึกว่าไม่เหมาะไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน พวกเขาก็พร้อมจะจากไป และเลือกที่ใหม่ในที่สุด
“ถึงคุณจะโวยวายว่าทำไมลูกค้าไม่เลือกคุณ ก็ไม่อาจแก้ปัญหายอดขายตกได้ ก็เหมือนกับการโวยวายว่าทำไมเด็กถึงไม่อดทนอยู่กับคุณ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหา Turnover สูงได้เช่นกัน”
แต่ถ้าคุณคิดว่าบริษัทของคุณเป็นตัวเลือกที่ดีพอ ก็จะสามารถดึงดูดเด็กเก่งๆ ในยุคนี้ได้มากกว่ายุคก่อนๆ แน่นอน
2. ความเป็นตัวของตัวเอง
คนรุ่นก่อน เติบโตมากับกฏระเบียบ คนที่มีความคิดแตกต่างถือว่าแปลกแยก แต่ยุคสมัยได้เปลี่ยนไป และ Gen Y ไม่ได้เติบโตมาแบบนั้น เหล่าเซเลปทั้งหลายในยุคของ Gen Y ทั้ง Lady Gaga, Taylor Swift, เต๋อ ฉันทวิชช์, ต้นหอม ศกุนตลา ฯลฯ ล้วนแล้วแต่แสดงความคิดที่เป็นตัวของตัวเองตลอดเวลา ยิ่งรุ่นที่เกิดมาพร้อม Justin Bieber ยิ่งมีความเป็นตัวของตัวเองสูงไปอีก แล้วพวกเขายังมี facebook, Twitter, Instragram ที่ไม่ว่าจะคิดอะไร อยู่ที่ไหน รู้สึกอย่างไร ก็สามารถโพสต์ผ่าน smart phone ได้ทันที
ไม่แปลกที่ Gen X ขึ้นไป มักจะผิดหวังว่าทำไมเด็กคนนี้ไม่เป็นแบบนั้นแบบนี้ ก็เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทั้งทัศนคติ การดำเนินชีวิต ความสามารถ ความคาดหวังแตกต่างกันมาก
ระบบแบบเดิมๆ ที่จัดเด็กเป็นชุดตามปีที่เข้า คิดว่าเด็กเหมือนกัน ให้อะไรเหมือนกัน เหมือนโรงงานที่ผลิตออกมาเป็นล็อตๆ ระบบแบบนี้ไม่สามารถจัดการ Gen Y ที่มีความซับซ้อนกว่านั้นได้
คน 2 คน เข้ามาทำงานพอๆ กัน คนหนึ่งทำงานหนักกว่าอีกคนเป็นสองเท่า แต่ได้เงินเดือนเท่ากัน แล้วจะมาบอกว่าทำงานเยอะก็ได้ทักษะการทำงานเยอะกว่า แบบนี้ไม่มีเด็กคนไหนทนอยู่หรอก
แล้วจะมาบอกว่า ถ้าไม่ทำแบบนี้แล้วระบบที่มีอยู่จะรวน ลองคิดดูก่อนว่าระบบที่มีอยู่ยังใช้ได้ดีในยุคนี้อยู่หรือเปล่า หรือมันไร้ประสิทธิภาพ และควรจะเปลี่ยนตั้งนานแล้ว
3. มักจะตั้งคำถามว่า ทำไม?
Gen Y ไม่ได้เติบโตมาแบบเชื่อฟังทุกเรื่อง แต่เกิดมาพร้อมกับการตั้งคำถามว่า “ทำไม?” การสั่งซ้ายหัน ขวาหัน โดยไม่มีเหตุผลให้ ใช้ไม่ได้กับเด็ก Gen Y เพราะคุณจะได้รับคำถามกลับมาว่า “ทำไม?” ในทางกลับกัน ถ้าคุณมีเหตุผลที่ดีพอ เผลอๆ เด็กจะหันเองโดยที่คุณไม่ต้องสั่งเลยด้วยซ้ำ
ผู้ใหญ่หลายคนมองว่าเด็กสมัยนี้ก้าวร้าว จากเมื่อก่อนที่ผู้ใหญ่จะสั่งหรือตัดสินใจให้ทำอะไร เด็กก็มักจะต้องทำตามโดยไม่มีข้อโต้แย้ง แม้ว่าเหตุผลจะฟังไม่ขึ้นแค่ไหนก็ตาม แต่ไม่ใช่ยุคนี้ที่เด็กจะถามกลับหรือพูดออกมาเลยว่าสิ่งที่เป็นอยู่ไม่โอเคอย่างไร
Gen Y ไม่ได้ต้องการหัวหน้า ไม่ต้องการคนมาควบคุม ชอบการทำงานแบบมีส่วนร่วมมากกว่าทำตามคำสั่ง ถ้าอยากคุม Gen Y ให้ได้ ต้องทำให้พวกเขายอมรับ รู้สึกเคารพ และอยากเรียนรู้ด้วย แค่นี้พวกเขาก็จะทำงานถวายหัวให้แล้ว
4. ความมั่นคงและความยุติธรรม
ถึง Gen Y จะเปลี่ยนองค์กรอยู่บ่อยๆ แต่พวกเขาก็ยังต้องการความมั่นคง เพียงแต่ พวกเขาเกิดมาในยุคที่เห็นความเปลี่ยนแปลง เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล Gen Y เข้าใจว่าบริษัทย่อมทำทุกอย่างเพื่อกำไรสูงสุด พนักงานคือค่าใช้จ่าย บริษัทต้องกดค่าใช้จ่ายให้ต่ำที่สุด(ซึ่งหลายครั้งก็นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิด ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ และค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าเดิม) เพราะฉะนั้น ใช้เยอะไม่ว่า ขอให้ค่าตอบแทนคุ้มค่าก็พอ การทำงานคือ “ทำมาหากิน” ไม่ใช่ “ทำงานการกุศล”
Gen Y รู้ดีว่า สิ่งที่จะทำให้กินดีอยู่ดี ไม่ใช่ตัวองค์กร แต่เป็นความสามารถของตัวเอง คำสัญญาต่างๆ ก็แค่ลมปากที่ถึงเวลาแล้วก็ลอยไปกับสายลม ไหนจะเด็กใครเป็นเด็กใครอีก ก็เพราะมีวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่มีความยุติธรรมแบบนี้นั่นแหละ แล้วจะให้เด็ก Gen Y คิดฝากอนาคตไว้ได้อย่างไร
ยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คิด แค่ช่วง 20 ปีมานี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ก็ล้มละลายกันไปไม่รู้กี่บริษัท ถ้ามีดีแค่ตั้งใจทำงานให้องค์กร แต่ไม่มีทักษะอะไรที่พิเศษ แล้วบริษัทล้มไปจะทำอย่างไร พวกเขาจึง “รักงาน”(ทำงานให้ออกมาดีที่สุด)มากกว่า“รักบริษัท”(ความจงรักภักดี) Gen Y มองว่าไม่มีใครเป็นบุญคุณต่อใคร เป็นเรื่องของผลประโยชน์ต่างตอบแทนต่างหาก
เป็นบทความที่ค่อนข้างยาวทีเดียว หวังว่าจะตอบปัญหาว่าทำไม Gen Y ถึงเปลี่ยนงานบ่อยได้ไม่มากก็น้อย และยังหวังอีกว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกองค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่ต้องการการพัฒนา ต้องการความคิดสร้างสรรค์ อยากมีนวัตกรรม และอะไรที่สดใหม่ แตกต่างไปจากเดิม แต่อย่าลืมว่าองค์กรเองก็ต้องจัดเตรียมสภาพแวดล้อมให้พวกเขาสามารถแสดงศักยภาพที่มีได้อย่างเต็มที่ อยากให้มองว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีค่า รับคนเก่งเข้ามาแล้ว ก็ต้องหาทางทำให้คนเก่งอยู่กับองค์กรให้ได้นานที่สุดด้วยค่ะ
สุดท้ายนี้อยากจะฝากเอาไว้ว่า
How you dress express who you are.
How you treat your employee reflect your generosity.
Your office is the mirror of your mindset.
-แกะดำทำธุรกิจ blacksheep-
เรียบเรียงจาก : Jijeruni, OK GUMP
Factory management by nukool
ไม่พลาดทุกข่าวสาร และบทความดีๆ จาก Smart Finder อัพเดทตรงถึงเมล์คุณ เพียงแค่กรอกอีเมล์ลงไปในช่องด้
[mc4wp_form id=”1533″]