คนเป็นหัวหน้าล้วนต้องการให้ลูกน้องทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำงานให้มีผลงานออกมาดีๆ แต่ใครจะรู้ว่าบางทีหัวหน้าก็ลืมไปว่าลูกน้องเป็นก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะสั่งให้ทำอะไรก็ได้ มนุษย์มีความรู้สึก มีอารมณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มนุษย์ต้องการการปฏิบัติที่ดี ซึ่งไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ว่าการปฏิบัติที่ดีของแต่ละคนนั้นมีความหมายอย่างไร แต่ถึงอย่างไรมนุษย์ทุกคนก็ล้วนต้องการอะไรคล้ายๆกัน
ในการทำให้ลูกน้องทำงานให้คุณแบบถวายหัวนั้นจำเป็นต้องมีการสร้างแรงจูงใจ ซื้อใจ หรือได้ใจลูกน้องให้ได้ ไม่ว่าคุณจะเก่งแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าคุณไม่สามารถรีดความสามารถของทีมงานของคุณให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มันก็ยากที่จะทำให้ผลลัพท์ที่คุณต้องการออกมาสมบูรณ์แบบ
และนี่คือเรื่องจริงที่หัวหน้าไม่เคยเข้าใจผิดเกี่ยวกับการสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้ลูกน้องของตัวเอง
คิดว่าเงินซื้อคนได้
จริงอยู่ที่เงินเป็นสิ่งแรกๆที่ลูกน้องต้องการในการทำงานให้คุณ แต่อย่าลืมว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่าง จากงานวิจัยของSimon Sinekนักเขียนชื่อดังผู้เขียนหนังสือ Leaders Eat Last บอกว่าปัจจัยภายนอกเช่นเงินสามารถจูงใจให้คนทำงานได้ แต่จะให้คนทำงานให้ดี ปัจจัยภายในเช่นความสนุกในการทำงาน ความเป็นอยู่ ความสบายใจ หรือความประสบความสำเร็จทางใจเป็นสิ่งสำคัญ
ถ้าคุณใช้แต่เงินในการซื้อใจคนให้ทำงานอย่างที่คุณคาดหวัง บางทีผลลัพท์อาจจะดีก็จริง แต่ต้องดูด้วยว่าลูกน้องของคุณใช้วิธีการอะไรในการทำสิ่งนั้น
ใส่ใจความรู้สึกของลูกน้องบ้าง
ลูกน้องก็มีหัวใจนะ ใจแลกใจเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลมานักต่อนัก หัวหน้าที่ไม่ใส่ใจว่าลูกน้องตัวเองจะคิดยังไงถ้าตัวเองทำอะไร ยังก็ไม่มีทางซื้อใจลูกน้องได้แน่นอน แล้วคิดว่าลูกน้องจะยอมทำงานสุดตัวเพื่อคุณหรือเปล่าหละ? เผลอๆจะโดนเลื่อยขาเก้าอี้ด้วยซ้ำไป
การใส่ใจความรู้สึกลูกน้องสามารถทำได้ง่ายๆ แค่คุณเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองคิดดูบ้างว่าถ้าคุณเป็นลูกน้อง คุณจะคิดอย่างไรถ้าหัวหน้าคุณทำแบบนี้
การชมเชยเล็กๆน้อยๆก็สามารถสร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่ได้
การชมเชยหรือให้เครดิตแก่คนที่ทำผลงานดีเป็นแรงกระตุ้นที่สุดยอดเลยแหละ มันเป็นกำลังใจที่ดีมากในการช่วยให้ลูกน้องมีแรงที่จะทำงานนั้นๆต่อไปให้ดียิ่งขึ้น หัวหน้าที่ไม่เคยชมหรือให้เครดิตลูกน้องตัวเองเลย ลูกน้องอาจจะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่นั้นมันไม่ดีพอ จนสุดท้ายกลายเป็นท้อแท้หมดกำลังใจที่จะสู้ต่อ งานก็ไม่ดีอย่างที่หวัง
ยกตัวอย่างการชมเชยง่ายๆเช่น ถ้าแขกโรงแรมของคุณชมว่าลูกน้องของคุณคนหนึ่งบริการดีมาก เขาประทับใจและจะกลับมาพักโรงแรมของคุณใหม่คราวหน้า คุณสามารถชมเชยลูกน้องต่อหน้าเพื่อนร่วมงานคนอื่นหรือในที่ประชุมที่มีผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมอยู่ด้วย วิธีนี้คุณจะได้คะแนนใจจากลูกน้องมากมายเลยหละ ต่อไปลูกน้องของคุณก็จะพยายามรักษามาตรฐานและทำให้ดียิ่งขึ้น เพื่อจะได้รับคำชมจากคุณอีก
ระบบลูกรักคือความหายนะ
การเลือกที่รักมักที่ชังไม่ใช่สิ่งที่ดีเลยในการสร้างแรงจูงใจในการทำงานแก่ลูกน้องของคุณ ความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะถ้าลูกน้องของคุณรู้สึกว่าถูกปฏิบัติไม่เท่าเทียมแล้วละก็ ใครจะอยากทำงานอย่างเต็มที่ในขณะที่รู้ว่าทำไปหัวหน้าก็ไม่สนใจอยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่คนที่หัวหน้าจะสนับสนุน
การปฏิบัติไม่เท่าเทียมก็มีตัวอย่างเช่น การขึ้นเงินเดือนไม่เท่ากันในขณะที่ผลลัพท์ในการทำงานก็เท่ากัน หรือการที่คุณเลือกชมใครคนใดคนหนึ่งออกนอกหน้า แต่เลือกที่จะไม่ชมอีกคน นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกน้องของคุณรู้สึกว่าคุณปฏิบัติกับเขาไม่เท่าเทียม
ไม่ส่งเสริมความก้าวหน้าให้ลูกน้อง
หัวหน้าที่ดีต้องส่งเสริมให้ลูกน้องมีความสามารถมากขึ้น ทำให้ลูกน้องเก่งขึ้น และมีความก้าวหน้าในการงาน ไม่ใช่คอยกันไม่ให้ลูกน้องเด่นกว่าคุณ การที่คุณมีลูกน้องเก่งก็เป็นเรื่องที่ดี นั่นก็จะทำให้งานในแผนกของคุณดีไปด้วย การที่คุณคอยแต่จะกลัวว่าลูกน้องจะเด่นกว่าหรือไม่อยากให้ลูกน้องเก่งไปกว่าคุณ มันเป็นการบั่นทอนแรงจูงใจของคนที่ทำงานเก่งอย่างมาก สุดท้ายผลเสียก็จะตกมาอยู่ที่แผนกของคุณเองที่ไม่สามารถรักษาคนเก่งไว้ได้
ดีแต่ว่า แต่ไม่เคยสอนสิ่งที่ถูกต้อง
ลูกน้องก็ทำผิดพลาดได้ แต่แทนที่จะต่อว่า เปลี่ยนเป็นสอนให้ลูกน้องรู้ว่าต้องทำอะไรจะดีกว่าไหม ถ้าคุณเลือกที่จะต่อว่าอย่างเดียว ลูกน้องก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าคุณต้องการให้เขาปรับปรุงหรือพัฒนาอะไรตรงไหน บางทีอาจจะกลายเป็นกลัวไปเลยก็ได้จนไม่กล้าตัดสินใจอะไรเองเพราะไม่รู้ว่าจะโดนตำหนิจากหัวหน้าอย่างคุณอีกหรือเปล่า ทีนี้ลูกน้องของคุณก็จะทำงานไปวันๆ ไม่คิดออกนอกกรอบ ตัดสินใจอะไรเองไม่ได้ สุดท้ายก็จะขาดแรงจูงใจในการทำงานจนทำให้การทำงานเป็นเรื่องน่าเบื่อไปในที่สุด
ระบบระเบียบมากไป ทำให้งานไม่สนุก
การทำงานมีระเบียบมันก็ดี แต่ถ้ามีมากเกินไปจนเว่อร์มันก็ไม่ดีเหมือนกัน สภาพแวดล้อมการทำงานบริการควรจะสนุก ผ่อนคลาย นั่นจะเป็นแรงจูงใจที่ดีในการทำงานของลูกน้องของคุณ ไม่ใช่ว่าสภาพแวดล้อมกดดัน ทำอะไรก็ต้องคอยระแวงระวังไปซะทุกอย่าง การทำงานสภาพการทำงานสนุกเป็นโจทย์หนึ่งของหัวหน้าอย่างคุณ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อPerformanceของลูกน้องของคุณเอง
โยนบาปให้ลูกน้องตัวเอง
สิ่งที่แย่ที่สุดในการสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้ลูกน้องของคุณคือการที่คุณทำลายมันด้วยความเห็นแก่ตัวของคุณเอง เมื่อใดก็ตามที่มีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้นในแผนก หัวหน้าที่ดีก็ควรจะออกรับแทนลูกน้องก่อนเพราะถือว่าเป็นความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นหัวหน้า แต่ถ้าคุณเอาตัวรอดโดยการโยนความผิดให้ลูกน้องรับไปคนเดียว คุณก็ต้องรับให้ได้สำหรับผลที่จะตามมา เช่น การสร้างความต่อต้านภายในแผนก หรือการสูญเสียความเคารพต่อคุณของคนในปกครอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
อย่างนี้สิ! หัวหน้าที่คนโรงแรมต้องการ
สู่การเป็น Leader ในวงการโรงแรม
Subscribeเพื่อติดตามบทความต่อไปได้ง่ายๆเลย